Pages

เปิดบ้าน “แอนน์ แฟรงค์” รับนักเขียนลี้ภัย

          เกือบ 60 ปีหลังจากที่โลกได้รู้จักกับ \"แอนน์ แฟรงค์\" สาวน้อยชาวเยอรมันเชื้อสายยิว เจ้าของไดอารีอันโด่งดังที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของชาวยิวในช่วงที่นาซีครองอำนาจ หน่วยงานต่างๆในเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นดินแดนที่พักพิงเกือบทั้งชีวิตของเธอ กำลังจะเผยเสี้ยวความทรงจำอีกส่วนหนึ่งของแอนน์ ซึ่งเธอไม่ได้บันทึกไว้ในไดอารีให้ชาวโลกได้รับรู้ โดยจะทำการบูรณะบ้านหลังที่นักเขียนน้อยอาศัยอยู่ในช่วงก่อนหลบไปซ่อนตัว เพื่อใช้รับรองนักเขียนจากต่างชาติที่ถูกภัยการเมืองเล่นงาน
          ชื่อของแอนน์ แฟรงค์ กลายเป็นสัญลักษณ์ของความหวังและการต่อสู้ของชาวยิวในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อโลกได้รู้จักเธอผ่านไดอารี ซึ่งเธอบันทึกเหตุการณ์ในช่วงที่ครอบครัวแฟรงค์ อันประกอบไปด้วยพ่อแม่และลูกสาวสองคน และเพื่อนชาวยิวร่วมชะตากรรมอีกสี่คน ต้องหลบภัยการกวาดล้างของนาซีมาซ่อนตัวอย่างลับๆ ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
          ไดอารีของแอนน์ แฟรงค์ได้รับการยกย่องว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันก็เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่มีสีสัน ด้วยลีลาการใช้ภาษาและเนื้อหาที่เข้าถึงอารมณ์ของเรื่องราวต่างๆ 
          ตลอดช่วงเวลาที่ซ่อนตัว 25 เดือน แอนน์บันทึกเรื่องราวความหวาดกลัว ความขัดแย้งกระทบกระทั่งของเพื่อนร่วมบ้าน รวมทั้งช่วงเวลาแสนสุขที่พอมีอยู่ระหว่างการซ่อนตัวลงในสมุดบันทึก ที่สำคัญคือการเติบโตทางอารมณ์ เมื่อสาวน้อยวัย 15 เริ่มค้นพบตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น อีกทั้งเรียนรู้ถึงความงดงามของชีวิตและอิสรภาพ
          ขณะที่อาคารที่เธอซ่อนตัวกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งอุทิศให้กับความทรงจำของนักเขียนไดอารีรุ่นเยาว์ บ้านที่แอนน์กับครอบครัวอาศัยอยู่ระหว่างปี 1933 ถึงปี 1942 กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก
           แอนน์ แฟรงค์ เริ่มเขียนบันทึกระหว่างที่อาศัยอยู่กับครอบครัว ที่อพาร์ตเมนต์ในย่าน
Merwedeplein ทางตอนใต้ของอัมสเตอร์ดัม เมื่อพ่อของเธอมอบสมุดบันทึกเป็นของขวัญวันเกิดปีที่ 13 ให้กับลูกสาวคนเล็ก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 1942 เพียงเดือนเดียวก่อนที่เขาจะพาครอบครัวไปหลบอยู่ในห้องลับข้างออฟฟิศซึ่งได้ตระเตรียมไว้
           "เธอใช้ชีวิตช่วงวัยเด็กที่นั่น เราได้ข้อมูลจากไดอารีและแหล่งข้อมูลอื่นๆ
ที่ชี้ว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอยู่ที่นั่น" โฆษกพิพิธภัณฑ์บ้านแอนน์ แฟรงค์กล่าว
          และในโอกาสครบรอบ 60 ปี ที่แอนน์เสียชีวิตในค่ายกักกันของนาซี พิพิธภัณฑ์บ้านแอนน์ แฟรงค์ สหกรณ์การเคหะ และองค์กรด้านวัฒนธรรมต่างๆ ของอัมสเตอร์ดัม กำลังจับมือกันเพื่อบูรณะบ้านแสนสุขของครอบครัวแฟรงค์ ให้กลายเป็นที่พักสำหรับนักเขียนและนักข่าวชาวต่างชาติ ที่ไม่สามารถแสดงความเห็นอย่างเสรีได้ในประเทศของตัวเอง
          "แอนน์ แฟรงค์ กลายเป็นสัญลักษณ์ของการทำร้ายชาวยิวในยุคนาซี
มันจึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้บ้านเก่าของเธอเป็นที่พักพิงสำหรับนักเขียนที่ถูกคุกคาม" ประธานมูลนิธิผู้ลี้ภัยเมืองอัมสเตอร์ดัมกล่าว
           สหกรณ์การเคหะของอัมสเตอร์ดัมซึ่งกำลังซื้อบ้านเก่าของแอนน์เผยว่า อพาร์ตเมนต์ขนาด 3
ห้องนอนในย่านชานเมืองกำลังจะถูกฟื้นฟูขึ้นใหม่ ให้ดูดีเหมือนยุครุ่งเรืองในทศวรรษ 1930 และจะพร้อมต้อนรับนักเขียนรับเชิญคนแรก ซึ่งจะอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 1 ปี ได้ในเดือนกันยายน 2005
           แอนน์ แฟรงค์ ฝันไว้ตั้งแต่เด็กว่าเธออยากเป็นนักเขียน
แต่เธอสิ้นลมไปแล้วเมื่อผลงานชิ้นแรกของเธอได้รับการตีพิมพ์
           วันที่ 4 สิงหาคม 1944 ตำรวจลับนาซีบุกจู่โจมที่ซ่อนของพวกเขา แอนน์และสมาชิกร่วมบ้านทั้ง 8 คน
ถูกส่งตัวไปอยู่ตามค่ายกักกันและเสียชีวิตอย่างไร้อิสรภาพ มีเพียงออตโต พ่อของแอนน์ที่รอดมาได้และตัดสินใจทำความฝันของลูกสาวให้เป็นจริง
          เพื่อนบ้านของเขาเก็บไดอารีของแอนน์ได้ 2 ฉบับ ไดอารีฉบับแรกซึ่งนักประวัติศาสตร์กล่าวถึงในฐานะฉบับ a เป็นไดอารีที่แอนน์ระบายความรู้สึกให้กับเพื่อนสมมุติชื่อ "คิตตี้" ฟัง ส่วนฉบับแก้ไขที่เธอปรับแต่งเรื่องราวด้วยความหวังว่าจะนำเรื่องออกตีพิมพ์ภายใต้ชื่อ The Secret Annex เมื่อสงครามจบลง คือฉบับ b
           ออตโตนำเรื่องราวจากไดอารีมารวมกันกลายเป็นฉบับ c ซึ่งเป็นฉบับที่นำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ
ที่เขาพิจารณาเห็นว่าเหมาะสม ตัดเนื้อหาบางส่วนออกเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนทัศนคติของสังคมและเพื่อให้หนังสือมีขนาดกะทัดรัดเหมาะกับการพิมพ์ในสมัยนั้น
           นับตั้งแต่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1947 ไดอารีของแอนน์ แฟรงค์ ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 60
ภาษา ในปี 1956 ถูกเรื่องราวถูกนำไปทำเป็นละครเวทีจนได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ตามด้วยการสร้างภาพยนตร์ในปี 1959 ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ถึง 3 สาขา และนำมาปรับเป็นละครบรอดเวย์ในปี 1997

ที่มา:http://www.212cafe.com/freewebboard/view.php?user=satitalumni47&id=3

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น